สูตรบำรุงผม


พื้นฐานการผสมเครื่องสำอาง ทำได้ง่าย อ่านจบได้ใน 15นาที

สูตรโคลนหมักผม ครีมนวดผม สำหรับบำรุงผมหรือหนังศรีษะ ให้ผมหนา นุ่ม แข็งแรง ของใครเด็ดเชิญทางนี้เลยคะ

พื้นฐานการผสมเครื่องสำอาง ทำได้ง่าย อ่านจบได้ใน 15นาที

โพสต์โดย staff » ศุกร์ พ.ค. 24, 2019 10:42 pm

พื้นฐานการผสมเครื่องสำอาง

การผสมเครื่องสำอาง ไม่ได้เป็นเรื่องยาก แต่อาจจะใช้เวลาในการทำความเข้าใจ รวมถึง ลองฝึกทำการผสม โดยเริ่มต้นจากลักษณะสูตรที่ง่ายก่อนคะ คำแนะนำนี้ สำหรับมือใหม่ โดยมีจุดประสงค์เพื่อทำการผสมสูตรในหมวดเครื่องสำอางบำรุงผิวเท่านั้น

พื้นฐานการผสมแบ่งเป็นหัวข้อสำคัญเพียง 4 อย่าง ดังนี้คะ

1. การเลือกส่วนผสม

ไม่ได้มีส่วนผสมที่ดีที่สุด มีแต่ส่วนผสมที่เหมาะกับสูตร หรือผิวผู้ใช้ หรือไม่ และถูกนำมาใช้ในลักษณะสูตรที่เหมาะสมหรือไม่ ผิวผู้ใช้ และลักษณะสูตร เป็นสิ่งสำคัญ ที่จะทำให้ส่วนผสมที่ใช้ เกิดประโยชน์คะ ส่วนผสมที่มีราคาแพงกว่า ไม่ได้หมายถึงจะให้ประโยชน์ได้มากกว่าเสมอไปคะ ตัวอย่างที่พบบ่อยคือ ผิวมัน แต่มีการเลือกใช้ส่วนผสมกลุ่ม moisturizer ชนิดที่มีราคาแพง ซึ่งก็อาจจะไม่ได้เป็นสิ่งที่ต้องการในผิวมัน กลับกัน ผิวมันต้องการส่วนผสมที่ช่วยลดความมันผิว สูตรที่มีส่วนผสมกลุ่มลดความมันผิว จึงจะเกิดประโยชน์ต่อผู้ใช้ผิวมัน ซึ่งไม่ได้เกี่ยวกับราคาของส่วนผสมแต่อย่างใด

อัตราการใช้ส่วนผสม ให้ตรวจสอบอัตราการใช้ส่วนผสมแต่ละรายการ ซึ่งกำหนดโดยผู้ผลิตหรือ อ.ย. และห้ามใช้ส่วนผสมใดๆในอัตราที่เกินกว่ากำหนด ซึ่งจะเป็นผลเสีย หรือเป็นอันตรายต่อผิวได้
การเลือกใช้ส่วนผสมรวมแล้วเป็นสัดส่วนที่มากเกินไปในสูตร มักจะทำให้สูตรไม่น่าใช้ หรือไม่เหมาะสมในการใช้งาน ส่งผลให้ไม่เกิดการใช้งาน ผิวสัมผัสหรือความเหมาะสมของเนื้อผลิตภัณฑ์เป็นสิ่งสำคัญ ที่จะทำให้เกิดการใช้งานต่อเนื่อง จึงให้พิจารณาถึงความเหมาะสมนี้เสมอ ในการคัดเลือกส่วนผสมและอัตราการใช้

2. อุปกรณ์และความสะอาดในการผสม

การผสมเครื่องสำอาง โดยส่วนใหญ่แล้วจำเป็นต้องมีอุปกรณ์สำคัญเพียง 3 อย่าง คือ เครื่องชั่งน้ำหนักที่มีความแม่นยำสูง , เครื่องปั่นผสม และเตาให้ความร้อน สำหรับเครื่องชั่งน้ำหนักนั้น หากผสมในปริมาณไม่มาก (ไม่เกิน 100กรัม) ควรเลือกใช้ เครื่องชั่งน้ำหนักที่มีความละอียด 2ทศนิยม (หรือความละเอียด 0.01กรัม) เพื่อให้สามารถชั่งส่วนผสมได้อย่างแม่นยำ

สำหรับเครื่องปั่นผสม แนะนำใช้เครื่องปั่น overhead หรือ Homogenizer สำหรับสูตรส่วนใหญ่ แต่หากไม่สะดวกที่จะใช้เครื่องปั่น หลายๆรูปแบบสูตร สามารถใช้เพียงมือ ในการคนให้ส่วนผสมต่างๆเข้ากันได้ โดยไม่ได้มีความจำเป็นต้องใช้เครื่องปั่น

สุดท้าย เตาให้ความร้อน จำเป็นในสูตรที่ต้องใช้ความร้อนในการผสม ซึ่งเป็นเพียงส่วนนึงจากสูตรทั้งหมด สูตรจำนวนไม่น้อยที่ไม่ได้มีความจำเป็นต้องใช้ความร้อนเลย และสามารถผสมได้โดยง่าย แต่หากเมื่อต้องใช้ความร้อน แนะนำเลือกใช้เตาที่สามารถควบคุมอุณหภูมิได้ดี การใช้เตาไฟแก๊ส หรือเตาไฟฟ้าที่ให้ความร้อนเร็วไปหรือสูงเกินไปมักจะไม่เหมาะสม เนื่องจากจะทำให้ส่วนผสมเสียหาย เสียคุณภาพ ได้ เมื่อสัมผัสกับความร้อนที่สูงเกินไป โดยสูตรส่วนใหญ่ที่ต้องใช้ความร้อน มักจะใช้เพียงระดับประมาณ 75-80องศา

หากท่านพึ่งเริ่มต้นทำการผสมเครื่องสำอาง แนะนำว่าควรหลีกเลี่ยงการใช้ความร้อนในกระบวนการผสม

3. การชั่งตวงส่วนผสม มีคำแนะนำเพียงสั้นๆ คือวิธีการชั่งตวง การคำนวนอัตราส่วนของสูตร

สูตรเครื่องสำอางจะกำหนดด้วยน้ำหนัก (หรือที่เรียกว่า w/w) ตัวอย่างสูตรเช่น

ส่วนผสม A 95%
ส่วนผสม B 5%

ในกรณีหมายถึง ในสูตร 100% จะประกอบด้วย ส่วนผสม A 95% และส่วนผสม B อีก 5% ทำให้ครบ 100% ตัวอย่างการคำนวน เพื่อชั่งน้ำหนัก ในการผสม คือ หากต้องการผสมสูตรน้ำหนัก 50กรัม เท่ากับ ต้องใช้ส่วนผสม A = 50กรัม x 95% = 47.5กรัม และส่วนผสม B = 50กรัม x 5% = 2.5กรัม

สำคัญ: เวลากำหนดสูตรทุกครั้ง สูตรจะต้องรวมกันเท่ากับ 100% เสมอ และ ให้ใช้น้ำหนัก ในการคำนวนส่วนผสมทั้งหมด สาเหตุที่เลือกใช้น้ำหนักในการคำนวนส่วนผสม เนื่องจาก ปริมาณของของเหลวสามารถเปลี่ยนแปลงได้ตามอุณหภูมิ และในกรณีที่ส่วนผสมนั้นเป็นผง จะสามารถตวงปริมาตรได้ยากขึ้นและแม่นยำน้อยลง

4. สารกันเสีย และ น้ำ ที่ใช้ในการผลิตเครื่องสำอาง

เนื่องจากเรามีความจำเป็นต้องเก็บเครื่องสำอางไว้ใช้ในระยะเวลายาวนานตามที่ต้องการ ไม่ให้เกิดการเน่าบูดซึ่งเกิดจากการเจริญเติบโตของเชื้อโรคในสูตร ซึ่งแม้ว่ากระบวนการผสมจะสะอาดเพียงใดก็ตาม มีโอกาสเสมอที่เชื้อโรคจะเล็ดรอดเข้ามาในผลิตภัณฑ์ ซึ่งสุดท้ายส่งผลให้เชื้อโรคค่อยๆเจริญเติบโตมากขึ้นเรื่อยๆจนทำให้เกิดการเน่าบูด จึงมีความจำเป็นเสมอ ที่จะต้องเติมสารกันเสีย ลงในสูตร ในอดีต สารกันเสียที่ใช้ในเครื่องสำอางมักจะมีปัญหาความปลอดภัยมาก บ่อยครั้งสารกันเสียเหล่านี้ก่อให้เกิดอันตรายต่อผิว หรือระคายเคืองผิว แต่ในปัจจุบัน สารกันเสียหลากหลายชนิดถูกพัฒนาขึ้นให้มีความปลอดภัยสูง หลายชนิดสามารถทำหน้าที่ช่วยควบคุมเชื้อโรคได้ โดยตัวเองไม่ถือว่าเป็นสารกันเสีย (ตัวอย่าง : Mild Preserved Eco) ในสูตรที่เลือกใช้สารกันเสียลักษณะนี้ สามารถโฆษณาว่าปราศจากสารกันเสียได้ เนื่องจากไม่ถูกจัดเก็บสารกันเสียตามประกาศของ อ.ย. จึงควรอย่างยิ่งที่จะเลือกเติมสารกันเสียลงในสูตรเสมอ

ในส่วนของน้ำ ที่ใช้ในการผลิตเครื่องสำอางนั้น จะต้องมีความสะอาดสูงกว่าน้ำทั่วไป ในทางเทคนิคจะเรียกน้ำเหล่านี้ว่า Deionized Water เรียกสั้นๆว่า DI Water เป็นน้ำที่ปราศจากประจุ หรือแร่ธาตุใดๆ หลงเหลืออยู่ในน้ำ สาเหตุเนื่องจาก หากมีแร่ธาตุใดๆเจือปนอยู่ในน้ำ ซึ่งเป็นปกติสำหรับน้ำทั่วไปแม้ว่าผ่านการกรองก็ตาม สิ่งเจือปนที่เหลืออยู่ในน้ำเหล่านั้น อาจจะทำปฎิกิริยาบางประการ กับส่วนผสมในเครื่องสำอาง ทำให้อายุของประสิทธิภาพเครื่องสำอางสั้นลง DI Water จึงมีความจำเป็น ในการใช้ในอุตสาหกรรม เครื่องสำอาง และ ยา (แต่มักจะไม่ใช้ในอุตสาหกรรมอาหาร เนื่องจาก น้ำที่ดื่มเข้าร่างกาย ควรจะต้องมีแร่ธาตุต่างๆหลงเหลืออยู่ ซึ่งเป็นหนึ่งในสาเหตุที่เราไม่นิยมดื่มน้ำกลั่น เนื่องจากไม่มีแร่ธาตุใดๆหลงเหลือ กลับกันเรานิยมดื่มน้ำแร่แทน)

DI Water นั้น เกิดจากระบบการกรองเช่นเดียวกัน เพียงแต่เป็นระบบที่มีความซับซ้อนมากกว่าเครื่องกรองน้ำดื่มกิน ทั่วไป กล่าวคือ หลังจากกระบวนการกรองที่นิยมกันคือ RO (Reverse Osmosis) แล้วจะต้องมีกระบวนการ treat น้ำเพิ่มเติม เพื่อหักลบประจุออกจากน้ำ โดยจะมีความบริสุทธิ์เทียบเท่าน้ำกลั่น

สาเหตุที่ไม่นิยมใช้น้ำกลั่น ในกระบวนการผลิตเครื่องสำอาง เนื่องจากน้ำกลั่นมีต้นทุนสูงกว่า DI Water เพราะกระบวนการกลั่นจะต้องใช้ความร้อน ต้มจนน้ำเดือดกลายเป็นไอ กระบวนการนี้แม้ว่าจะได้น้ำที่บริสุทธิ์ที่สุด แต่ต้นทุนของการผลิตสูง

DI Water อาจจะดูยุ่งยากสำหรับมือใหม่ที่พึ่งเริ่มต้นทำการผสมเครื่องสำอาง ทางเลือกอื่นๆที่ทำได้ คือ ซื้อน้ำกลั่นสำเร็จรูป มาทำการผสม รวมถึง ซื้อเครื่องทำน้ำกลั่นขนาดเล็ก มาผลิตน้ำกลั่น เพื่อใช้ในการผสมเครื่องสำอางเอง

ข้อมูลเพิ่มเติม: เครื่องผลิตน้ำ DI

5. การสร้างเนื้อเจล ครีม โลชั่น เซรั่ม

เครื่องสำอางในหมวดบำรุงผิว จะแบ่งลักษณะส่วนผสมออกเป็นเพียง 4 กลุ่ม คือ

ก. ส่วนผสมที่ละลายน้ำหรือส่วนผสมที่อยู่ในรูปของน้ำ
ข. ส่วนผสมที่ละลายน้ำมันหรือส่วนผสมที่อยู่ในรูปน้ำมัน
ค. ส่วนผสมที่ละลายในซิลิโคนหรือส่วนผสมที่อยู่ในรูปซิลิโคน
ง. ส่วนผสมที่เป็นผง

การผสมเข้ากัน ระหว่างส่วนผสมแต่ละกลุ่มนั้น ทำให้เกิดความแตกต่างของลักษณะเครื่องสำอาง โดย ครีม หรือโลชั่น หรือเซรั่ม มักจะถูกเรียกในเครื่องสำอางที่มีส่วนผสมกลุ่ม ก. และ ข. และ/หรือ ค. เข้าด้วยกัน ในขณะที่ เจล หรือเอสเซ้นส์ มักจะถูกเรียก ในเครื่องสำอางที่มีส่วนผสมเฉพาะกลุ่ม ก. แม้ว่าการเรียกเหล่านี้เป็นเพียงศัพท์ทางการตลาด ที่นักการตลาดสรรหาคำเรียกใหม่ขึ้นมาตลอดเวลา

ในกรณีที่ส่วนผสมในสูตรมีเพียงกลุ่ม ก. เท่านั้น ตัวเลือกลักษณะผลิตภัณฑ์ที่ทำได้ คือ อยู่ในรูปของเหลวใส (เช่น โทนเนอร์, เอสเซนส์) หรือเนื้อเจลใส วิธีการผสมทำได้โดยง่าย เนื่องจากส่วนผสมทั้งหมดในสูตรพร้อมละลายเข้ากัน หากเป็นสูตรของเหลว เพียงแค่นำส่วนผสมต่างๆมาผสมเข้าด้วยกัน หรือหากต้องการทำเป็นเนื้อเจล ก็สามารถเลือกใช้สารสร้างเนื้อเจล มาสร้างให้เกิดความข้นหนืดให้กับเนื้อสูตรได้เลย

ตัวอย่างผลิตภัณฑ์ที่อยู่ในรูปของเหลว และส่วนผสมต่างๆเป็นส่วนผสมละลายในน้ำได้ทั้งหมด
ส่วนผสม A
ส่วนผสม B
สารกันเสีย
น้ำ
ขั้นตอนการผสม: ผสมทุกรายการเข้าด้วยกัน โดยค่อยๆเติมส่วนผสมทีละรายการ ลงในน้ำ


ตัวอย่างผลิตภัณฑ์ที่อยู่ในรูปเจลน้ำ
ส่วนผสม A
ส่วนผสม B
สารสร้างเนื้อเจล
สารกันเสีย
น้ำ


ขั้นตอนการผสม มักจะทำได้ 2 วิธีคือ

ก. สร้างเนื้อเจลน้ำ ด้วยการปั่น สารสร้างเนื้อเจล ในน้ำ จนได้เนื้อเจล จากนั้นเติมส่วนผสมต่างๆลงในเนื้อเจล ปั่นให้เข้ากัน
ข. เติมส่วนผสมต่างๆลงในน้ำ ปั่นให้ละลายเข้ากัน จากนั้นเติมสารสร้างเนื้อเจล ปั่นจนเกิดเนื้อเจล
ให้คำนึงถึงความสะดวกในการผสมเป็นหลัก ว่าขั้นตอนใด ผู้ผสมสะดวกกว่า

ในกรณีที่ส่วนผสมมีทั้ง กลุ่ม ก. ข. ค. ตัวเลือกลักษณะผลิตภัณฑ์ที่ทำได้ คือ ของเหลวซึ่งมักจะถูกเรียกว่าเซรั่ม หรือของข้นหนืด ซึ่งอาจจะเรียกว่า โลชั่น หรือ ครีม การผสมผลิตภัณฑ์กลุ่มนี้ จะมีความยุ่งยากมากขึ้นบ้าง เนื่องจาก ส่วนผสมในแต่ละกลุ่มไม่สามารถผสมเข้ากันได้ด้วยตัวเอง (น้ำ และน้ำมัน ไม่ยอมเข้ากัน และจะแยกออกจากกันเสมอ) ลักษณะสูตรเหล่านี้ จึงจะต้องใช้ตัวประสาน โดยจะเรียกว่า Lotion Maker, Cream Maker (หรือศัพท์เทคนิคจะเรียกว่า Emulsifier หรือ สารลดแรงตึงผิว)

ตัวอย่างโครงสร้างของสูตรลักษณะนี้

ส่วนผสมที่ละลายน้ำ หรือที่มีลักษณะเป็นน้ำ
ส่วนผสมที่ละลายในน้ำมัน หรือที่มีลักษณะเป็นน้ำมัน
ส่วนผสมที่ละลายในซิลิโคน หรือที่มีลักษณะเป็นซิลิโคน
สารประสานเนื้อ (Lotion Maker, Cream Maker)
สารกันเสีย
น้ำ


ขั้นตอนการผสมสูตรลักษณะนี้ จะขึ้นอยู่กับสารที่เลือกใช้ในการประสานสูตร ซึ่งท่านสามารถลองศึกษาตัวอย่างวิธีการใช้ สารประสานนั้นๆ ได้จากหน้ารายละเอียดของสารนั้นๆ

ตัวอย่างเช่น Satin Cream Maker ใช้ โดยการปั่นให้เข้ากับส่วนของน้ำ แล้วจึงเติมส่วนของน้ำมัน และ/หรือ ซิลิโคน ลงในสูตร ซึ่งหมายถึง นำ Satin Cream Maker ไปปั่นผสมในน้ำของสูตร ก่อนหรือหลัง การเติมส่วนผสมกลุ่มที่ละลายน้ำ เมื่อเข้ากันดีแล้ว ก็สามารถเติมส่วนผสมที่เป็นน้ำมัน หรือซิลิโคน ลงในสูตร ปั่นให้เข้ากันได้เลย โดย Satin Cream Maker ก็จะทำหน้าที่ประสานสูตรให้เรียบร้อย

ตัวอย่างสูตรครีมบำรุงผิวที่ประกอบด้วย Aloe Vera Extract + Jojoba Oil
Aloe Vera Extract 3% (ส่วนผสมละลายในน้ำ – ให้ความชุ่มชื้นผิว)
Jojoba Oil 5% (น้ำมัน – บำรุงผิว)
Satin Cream Maker 1% (ประสานเนื้อครีม)
Mild Preserved Eco 1% (ทำหน้าที่กันเสีย)
น้ำ 90%


ขั้นตอนการผสม ให้ เติม Aloe Vera Extract ลงในน้ำ ปั่นหรือคนให้เข้ากัน จากนั้นเติม Satin Cream Maker ปั่นหรือคน จนได้เนื้อข้นเนียน จากนั้นเติม Jojoba Oil ปั่นหรือคน ซึ่งจะทำให้เกิดเนื้อครีม จากนั้นสามารถเติมสารกันเสีย ปั่นหรือคนให้เข้ากัน

6. การแพ้ส่วนผสมเครื่องสำอาง

การแพ้ และการระคายเคือง เป็นเรื่องที่แตกต่างกัน แต่มักจะถูกจับรวมกัน ว่าเป็นเรื่องเดียวกัน การแพ้นั้น เป็นลักษณะที่ร่างกายไม่ยอมรับส่วนผสมดังกล่าว ซึ่งมักจะแสดงออกด้วยลักษณะต่างๆเช่นผิวแดง ผด ผื่น สิว ฯลฯ การแพ้นั้นเป็นเรื่องเฉพาะเจาะจงในแต่ละบุคคล ไม่สามารถคาดเดาได้ หากเมื่อถูกถามว่า สูตรนี้จะแพ้หรือไม่ จึงเป็นไปไม่ได้เลยที่จะตอบได้ หากไม่มีข้อมูลประวัติการแพ้เดิม ว่าเคยแพ้ส่วนผสมใดๆในสูตรนี้ มาก่อนหรือเปล่า

การระคายเคือง ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะเจาะจงดังเช่นการแพ้ แต่เกิดขึ้นกับทุกคน หรืออย่างน้อย เกิดขึ้นเป็นส่วนใหญ่ ส่วนผสมเครื่องสำอางบางชนิด สามารถระคายเคืองผิวได้ แต่ก็ถูกใช้กันอย่างแพร่หลาย สาเหตุเนื่องจากประโยชน์ที่ส่วนผสมนั้นๆให้ มีมากกว่าผลเสียคือการระคายเคือง ตัวอย่างเช่น ส่วนผสม whitening หลายชนิด สามารถระคายเคืองผิวได้ ส่วนผสมผลัดเซล์ผิว เช่น AHA สามารถระคายเคืองผิวได้ ส่วนผสมละลายสิวอุดตันกลุ่ม BHA สามารถระคายเคืองผิวได้ แต่เนื่องจากให้ประโยชน์ต่อผิวได้ การใช้ในอัตราที่เหมาะสม รวมถึงมีการควบคุมการใช้อย่างเหมาะสม จึงเป็นประโยชน์มากกว่าโทษยิ่งนัก

7. อายุของส่วนผสมและสูตร

อายุของส่วนผสม และสูตรที่ทำการผสมเสร็จ แบ่งเป็น 2 ส่วนคือ

ก. อายุของ “ความคงตัว” (stability) และประสิทธิภาพ
ข. อายุของ “การปลอดเชื้อ” หรือ “การควบคุมเชื้อของสูตร”

อายุของความคงตัว หมายถึง ระยะเวลาที่เครื่องสำอาง หรือส่วนผสมนั้นๆ ยังมีประสิทธิภาพอยู่ หรือมีความคงตัวดีอยู่ โดยปกติแล้ว ส่วนผสมต่างๆในสูตร จะค่อยๆเสื่อมคุณภาพไปทีละเล็กน้อย ในความเร็วที่แตกต่างกันไป ด้วยกระบวนการ oxidation (หรือการเกิดอนุมูลอิสระ) โดยส่วนผสมในกลุ่มที่ออกฤทธิ์ (หรือสาร active ที่ให้ผลใดๆต่อผิว) เมื่อประสิทธิภาพลดลง ก็จะไม่สามารถให้ประโยชน์ต่อผิวได้มากเท่าเดิม ในขณะที่ ส่วนผสมในกลุ่มที่ทำหน้าที่อื่นๆ เช่น ให้ความข้นหนืดต่อเนื้อสูตร ก็อาจจะเกิดลักษณะเสียความข้นหนืด ส่วนผสมที่ทำหน้าที่ประสานน้ำ-น้ำมันของสูตร เมื่อเสื่อมประสิทธิภาพ ก็อาจจะเกิดการแยกชั้นของสูตรได้

อายุของการปลอดเชื้อ หมายถึง ระยะเวลาที่เครื่องสำอางปลอดจากการเจริญเติบโตของเชื้อโรค โดยหากเมื่อเชื้อโรคเจริญเติบโตและก่อตัวในผลิตภัณฑ์ ก็มักจะถูกเรียกว่า “เสีย” หรือ เน่าบูด เหมือนอาหาร ซึ่งสังเกตุได้ง่ายด้วยสายตา เหมือนอาหารเน่าบูด

2 อายุที่กล่าวมานี้ ไม่มีความเกี่ยวข้องใดๆต่อกัน แต่รวมแล้วมีผลต่ออายุจริงของสูตร เนื่องจากหากหมดประสิทธิภาพแล้ว แต่ยังไม่ได้เกิดการเน่าบูดแต่อย่างใด ดูเป็นผลิตภัณฑ์ที่ยังน่าใช้เหมือนเดิมทุกประการ ก็ไม่ได้เกิดประโยชน์ในการใช้งาน ในขณะที่ หากส่วนผสมต่างๆยังมีประสิทธิภาพอยู่ครบถ้วน แต่สูตรเกิดการเน่าบูด มีเชื้อโรคก่อตัวในเนื้อสูตร ก็ไม่สามารถนำมาใช้บนผิวอย่างปลอดภัยได้ต่อไป

อายุของความคงตัว มักจะต้องวัดด้วยวิธีทางแลปหลากหลาย ตัวอย่างเช่น หากต้องการวัดความคงตัวของสารประสานน้ำ-น้ำมัน จะใช้เครื่อง Centrifuge ในการเหวี่ยงเพื่อเร่งให้เกิดการแยกชั้นของสูตร หรือ หากต้องการวัดความคงตัวของส่วนผสม active บำรุงผิว จะต้องทำ HPLC เพื่อวัดว่าสาร active นั้นๆ คงเหลืออยู่ในสูตรปริมาณเท่าใด เมื่อเวลาผ่านไปตามที่กำหนดปัจจัยต่างๆมากมายที่มีผลต่ออายุของความคงตัวนี้ เช่น แสง อากาศ อุณหภูมิ ปัจจุบันเหล่านี้ ช่วยเร่งหรือชะลอ การเสื่อมความคงตัวนี้

ตามมาตรฐานอุตสาหกรรมเครื่องสำอาง อายุของผลิตภัณฑ์ที่ผลิตเสร็จ จะถูกกำหนดไว้ที่ 2ปี นับจากวันผลิตเสมอ แม้ว่าผู้ผลิตจำนวนไม่ได้ ไม่ได้ทำการทดสอบจริง ว่าผลิตภัณฑ์จะมีอายุถึง 2 ปีจริง ในทุกด้านหรือไม่ เพราะ อ.ย. ประเทศต่างๆโลก ยังไม่ได้มีการบังคับให้ทำการทดสอบลักษณะนี้ ซึ่งอาจจะแตกต่างจากอุตสาหกรรมยา ที่จะต้องมีการทดสอบและกำหนดอายุตาจริง ตามผลที่ทดสอบได้

(ย่อหน้าล่างนี้ กรุณาแยกแยะคำว่า ผู้ผลิตส่วนผสม และผู้ผลิตเครื่องสำอางให้ดี เนื่องจากเป็นคนละส่วนกัน)

ทีมงานพบคำถามบ่อยครั้ง ว่า วันหมดอายุของส่วนผสม ที่นำมาผสมเครื่องสำอาง มีผลอย่างไรต่อ อายุของเครื่องสำอางที่ทำการผสมเสร็จ ในความเป็นจริงแล้ว อายุของส่วนผสมนั้นมีผลต่ออายุของประสิทธิภาพของเครื่องสำอางอย่างแน่นอน แต่เนื่องจากธรรมเนียมปฎิบัติของอุตสาหกรรมเครื่องสำอาง คือ ผู้ผลิตส่วนผสม มักจะกำหนดอายุของส่วนผสมนั้นๆ ตามระยะเวลาการรับประกันคุณภาพ (หรือรับประกันความคงตัว) ของส่วนผสมนั้นๆ ซึ่งไม่ใช่เป็นวันสิ้นประสิทธิภาพของส่วนผสม (หมดอายุรับประกัน ไม่ได้หมายถึง ส่วนผสมจะสิ้นคุณภาพ) อีกทั้งมีผู้ผลิตจำนวนไม่น้อย ไม่ได้กำหนดวันหมดอายุจริง แต่กำหนดเป็นวันทดสอบซ้ำ (retest date) ซึ่งหมายถึง เมื่อถึงวันดังกล่าว เช่น 2ปี หลังจากวันที่ผลิตครั้งแรก ให้ทำการ retest ใหม่ทุกช่วงเวลาที่กำหนด เช่นทุกๆ1ปี ว่า ส่วนผสมดังกล่าวยังอยู่ในสภาพปกติหรือไม่ หากปกติ ก็จะสามารถนำไปใช้ต่อได้ต่อไปเรื่อยๆ จนถึงวัน retest ใหม่ จึงทดสอบอีกครั้ง ผู้ผลิตเครื่องสำอาง จึงกำหนดวันหมดอายุของเครื่องสำอางที่ผลิตมาจากส่วนผสมเหล่านี้อย่างอิสระ โดยไม่ได้อิงตามวันหมดอายุของส่วนผสม โดยในวันที่ผลิตเครื่องสำอาง ผู้ผลิตเครื่องสำอางจะตรวจส่วนผสม ว่าอยู่ในสภาพปกติ เพียงเท่านั้น
Staff - MySkinRecipes
staff
 
โพสต์: 17072 (คลิ๊กเพื่อดู)
ลงทะเบียนเมื่อ: จันทร์ มี.ค. 19, 2012 9:38 pm
จำนวนสูตร: 0

ย้อนกลับไปยัง สูตรบำรุงผม